Рет қаралды 7,813
4 แจ่ง 5 ประตู ประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจแห่งนครพิงค์เชียงใหม่
-----
ถ้าทุกคนขับรถผ่านเข้าไปในคูเมืองเชียงใหม่ คงจะคุ้นเคยกันดีกับแจ่งมุมกำแพงเมือง และประตูเมืองที่ตั้งตระหง่านโดยรอบทั้ง 4 ทิศของบริเวณเมืองเก่าเชียงใหม่ เป็นสัญลักษณ์ที่คุ้นตาของประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมความเก่าแก่ของประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
-----
กำแพงเมืองเชียงใหม่ หรือ กำแพงเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันหมายถึงกำแพงเมืองชั้นในของเวียงเชียงใหม่ (ในขณะที่กำแพงเมืองชั้นนอกคือแนวกำแพงดิน) สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพญามังราย เพื่อเป็นเมืองหลวงของล้านนา โดยขั้นแรกได้ขุดคูเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความยาวด้านละประมาณ 1.63 กิโลเมตร และนำดินที่ได้จากการขุดคูเมืองนั้นขึ้นไปถมเป็นแนวกำแพงเมือง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือแจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านและประตูเมืองอีกทั้งสี่แห่ง เดิมประตูเมืองทั้งชั้นนอกชั้นในหนึ่งประตูก็ทำเป็นสองชั้น บานประตูวางเยื้องกัน เพื่อป้องกันข้าศึกเอาปืนใหญ่ยิงกรอกประตูเมือง ปัจจุบันถูกรื้อหมดแล้ว
-----
กำแพงด้านทิศเหนือ มีความยาวมากที่สุด วัดได้ประมาณ 1.67 กิโลเมตร รองลงมาเป็นกำแพงด้านทิศใต้ วัดได้ 1.63 กิโลเมตร ส่วนกำแพงด้านทิศตะวันออกมีความยาวเท่ากับทิศตะวันตก คือ 1.62 กิโลเมตร
-----
โดยประตูเมืองในปัจจุบันจะเป็นประตูเมืองของกำแพงชั้นในซึ่งมีประตูทั้งหมด 5 ประตู ได้แก่
ประตูช้างเผือก เดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ สมัยก่อนเป็นประตูเอกของเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองยังประตูนี้ ประตูนี้เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น
-----
ประตูเชียงใหม่ เดิมมีชื่อว่า ประตูท้ายเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศใต้ ในอดีตเป็นเส้นทางสำคัญระหว่างเชียงใหม่ไปเวียงกุมกามและลำพูน ในสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1804 - 2101) ทั้งเชียงใหม่ เวียงกุมกามและลำพูนตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำปิงเช่นเดียวกัน การเดินทางจึงไม่ต้องข้ามแม่น้ำปิง
-----
ประตูท่าแพ เดิมมีชื่อว่า ประตูเชียงเรือก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันออก ที่มาของชื่อเนื่องจากประตูด้านนี้ มีบ้านเชียงเรือกตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมือง เดิมบ้านเชียงเรือกเป็นชุมชนค้าขายเพราะเป็นที่ตั้งของตลาดเชียงเรือก ตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ คาดว่ามีประชากรหนาแน่น ในสมัยพระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416 - 2440) ชื่อประตูเชียงเรือก เปลี่ยนมาเป็นประตูท่าแพชั้นในเพื่อให้คู่กับประตูท่าแพชั้นนอก เป็นประตูที่จะไปยังท่าน้ำของแม่น้ำปิง ซึ่งมีแพจำนวนมากอยู่
-----
ประตูสวนดอก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันตก ที่มาของชื่อเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเป็นที่ตั้งของพระราชอุทยานของพญามังราย
-----
ประตูแสนปุง หรือ ประตูสวนปรุง เป็นประตูที่เจาะกำแพงชั้นในด้านใต้สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัย พญาสามฝั่งแกน เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ได้สร้างเจดีย์ราชกุฏคารขึ้น ดังนั้น เพื่อความสะดวกแก่พระราชชนนีที่โปรดประทับอยู่ที่ตำหนักนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้จะได้ทรงสะดวกในการเสด็จมาสักการะพระเจดีย์ จึงโปรดให้เจาะกำแพงเมืองด้านนั้น และตั้งชื่อว่า ประตูสวนแร ส่วนชื่อ แสนปุง เพราะเป็นทางออกไปสู่บริเวณที่มีเตาปุง (เตาไฟ) มากมาย เพราะด้านนอกประตูเป็นที่อยู่ของกลุ่มช่างหลอมโลหะจึงมีเตาปุงไว้หลอมโลหะจำนวนมากเปรียบนับแสน ปัจจุบันยังมีบ้านช่างหล่อพระพุทธรูปอาศัยอยู่ และถนนเลียบคูเมืองด้านนี้ชื่อถนนช่างหล่อจากความเชื่อเรื่องทิศและพื้นที่ถือเป็นเขตกาลกิณีจึงกำหนดให้ประตูแสนปุงเป็นทางออกไปสุสาน เชียงใหม่มีประเพณีที่ว่าหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ จะต้องนำศพออกจากตัวเมืองผ่านทางประตูนี้เท่านั้น ซึ่งก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน
-----
กำแพงเมืองเชียงใหม่มีแจ่ง (มุม) 4 แจ่ง ซึ่งถือเป็นป้อมปราการของเมืองในอดีต ได้แก่
แจ่งศรีภูมิ เดิมชื่อ แจ่งสะหลีภูมิ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มาของชื่อหมายถึง ศรีแห่งเมือง ถือเป็นจุดแรกเริ่มของการสร้างเมืองเชียงใหม่ เชื่อมต่อถนนอัษฏาธร ออกไปยังตลาดคำเที่ยง และถนนวิชยานนท์ ออกไปยังตลาดเมืองใหม่, เจดีย์ขาว
-----
แจ่งก๊ะต้ำ หรือ แจ่งขะต๊ำ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาของชื่อหมายถึง กับดัก เป็นเครื่องจับปลาชนิดหนึ่ง เพราะมุมด้านนี้อยู่ต่ำสุดมีปลาชุกชุม จึงมีผู้คนมาดักปลาโดยใช้ ขะต๊ำเชื่อมต่อถนนศรีดอนชัย ออกไปยังไนท์บาร์ซ่า, ขัว(สะพาน)เหล็ก, ถนนช้างคลาน
-----
แจ่งกู่เฮือง เป็นแจ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นที่เก็บอัฐิของ อ้ายเฮือง ผู้คุมของแจ่งนี้
-----
แจ่งหัวลิน เป็นแจ่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นจุดรับน้ำจากห้วยแก้ว (ดอยสุเทพ) ผ่านราง (ลิน) ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของระบบน้ำประปาแบบโบราณ เชื่อมต่อถนนสุเทพ ออกไปยังดอยสุเทพ, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สวนสัตว์เชียงใหม่
-----
กำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในปี พ.ศ. 2478
-----
ที่มาข้อมูล th.wikipedia.org/
#Kanghoh_Review #แกงโฮะรีวิว
#Chiangmai #เชียงใหม่ #4แจ่ง5ประตู #เที่ยวเชียงใหม่ #คูเมืองเชียงใหม่