Рет қаралды 24,217
Ep1 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เขาคลังใน และการขุดค้นพบโบราณสถานเขาคลังนอก
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตั้งอยู่ที่ ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ขุดพบโบราณวัตถุเป็นจํานวนมาก โบราณสถานเมืองใน 48 แห่ง ปัจจุบันได้รับการขุดแต่งและบูรณะหมดแล้ว โบราณสถานเมืองนอกมี 54 แห่ง ยังไม่ได้ขุดแต่งบูรณะ ภายนอกเมือง ยังมีโบราณสถานกระจายอยู่อีกราว 50 แห่ง ในโบราณสถานที่กล่าวมานี้ล้วนพบโบราณวัตถุต่าง ๆ มากมาย
โบราณสถานและโบราณวัตถุทั้งหลายเหล่านี้ ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน, ไปตามยุคสมัย ได้แก่วัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเจินละ และวัฒนธรรมเขมรโบราณ
ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 12-16 เมืองศรีเทพได้รับวัฒนธรรมทวารวดี จะเห็นได้จากการขุดคูน้ำคันดิน เป็นกําแพงรอบเมืองตามวัฒนธรรมทวารวดี นอกจากจะเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้อย่างเหลือเฟือแล้ว ยังเป็นการสร้างเครื่องกีดขวาง มิให้เข้าศึกเข้ามารุกรานได้โดยง่ายอีกด้วย
โบราณสถานและโบราณวัตถุสมัยทวารวดีในเมืองศรีเทพโบราณยังมีอีกมาก เช่น
1. โบราณสถานเขาคลังใน เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่อยู่กลางเมือง เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธขนาดใหญ่ในวัฒนธรรมทวารวดี สันนิษฐานว่า มีมาในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท แล้วต่อมาจึงได้มีการปรับเปลี่ยน เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในราวพุทธศตวรรษที่ 14 และใช้ประกอบพิธีกรรมตลอดมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีกําแพงศิลาแลงล้อมรอบ บริเวณโบราณสถานที่เป็นประธาน เหลืออยู่แต่ส่วนฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 28 คูณ 44 เมตร, สูง 12 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง น่าจะเป็นฐานของสถูปขนาดใหญ่ ส่วนฐานที่เป็นศิลาแลงนั้นฉาบปูนและมี ลวดลายปูนปั้นประดับ ลวดลายชั้นล่างสุดเป็นแถวของลายก้านขดที่นิยมกันอยู่ในสมัยทวารวดี ลวดลายชั้นบนขึ้นไปเป็นรูปคนแคระและสัตว์ ทําท่าแบกโบราณสถานนี้ ประดับอยู่ ซึ่งเป็นลักษณะของศิลปะทวารวดีเช่นกัน ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับที่วัดโขลงสุวรรณคีรีตําบลคูบัว จังหวัดราชบุรี และที่ฐานเจดีย์จุลประโทณ จังหวัดนครปฐม แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานยังเหลือภาพปูนปั้นประดับเป็นลายก้านขด รูปสัตว์ และคนแคระแบก กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นบนซึ่งยังเหลือปูนฉาบเป็นลานกว้าง มีร่องรอยว่าเดิมอาจมีสถูปประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันตก และวิหารขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า แต่ปัจจุบันพังทลายไปเกือบจะไม่เหลือร่องรอย ภายในบริเวณวัดยังมีเจดีย์ราย วิหาร และอาคารขนาดเล็กหลายแห่ง นอกจากนั้น ที่ลานด้านขวาของฐานสถูปโบราณ ยังมีร่องรอยของฐานสถูปหรือวิหารขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐ เหลืออยู่ 1 แห่ง
ภายในกําแพงศิลาแลงของโบราณสถานเขาคลังในนี้ ยังมีร่องรอยของสิ่งก่อสร้างขนาดเล็ก เช่น วิหาร เจดีย์ราย และอาคารประกอบพิธีกรรมต่างๆ อยู่โดยรอบ การที่ชาวบ้านเรียกชื่อว่า เขาคลังใน เพราะตั้งอยู่บนเนินดินเหมือนภูเขา ความเชื่อของคนในท้องถิ่น ที่เชื่อว่าเป็นคลังที่เก็บสิ่งของมีค่า หรือคลังอาวุธในสมัยโบราณ ที่ตั้งอยู่ในเขตของเมืองใน
2. โบราณสถานเขาคลังนอก ตั้งอยู่ที่บ้านสระปรือ นอกเมืองห่างออกไปทางทิศเหนือของ เมืองในราว 2 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่ค้นพบมานานแล้วในหมู่โบราณสถานของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่เพิ่งบูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี 2555 ลักษณะของเขาคลังนอกเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ในสมัยทวารวดี สันนิษฐานว่าเดิมมีลักษณะเป็นสถูปขนาดใหญ่ที่สามารถขึ้นไปด้านบนได้ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานขนาดใหญ่ ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลง สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน กว้างด้านละประมาณ 64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด ประมาณ 20 เมตร แบ่งเป็น 2 ชั้นหลัก ๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร แต่ละทิศมีเจดีย์รายรอบเล็ก ๆ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับมณฑลจักรวาล และอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้
และชวากลางคล้ายบรมพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย
ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สันนิษฐานว่าด้านบนประกอบด้วยลานประทักษิณ สำหรับประกอบพิธีกรรม และเป็นระเบียงที่สามารถเดินวนรอบได้ ลานประทักษิณมีเจดีย์ประธานตั้งอยู่บนสุดสร้างด้วยอิฐ โดยมีฐานอิฐรับยอดเจดีย์อีก 1 ชั้น รวมเป็น 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นสู่ด้านบนทั้ง 4 ทิศ บันไดมีผนังข้างเป็นชั้นรองเครื่องไม้หลังคา ปากทางขึ้นราวบันไดมีฐานของรูปสลักที่น่าจะเป็นรูปสิงห์คู่ ฐานโค้งเป็นบัว ลานประทักษิณชั้นบนสุดของแต่ละทิศมีซุ้มประตูโค้ง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ระเบียงคตหรืออาคารไม้มุมหลังคาล้อมรอยเจดีย์ประธาน และมีเจดีย์ขนาดเล็กประดับตามมุม
นอกจากนี้ รอบฐานเจดีย์ยังมีเจดีย์บริวารกระจายตัวตามแนวทิศหลัก ทิศละสามหลังในระยะห่างเท่า ๆ กัน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลไลดาร์พื้นที่มหาสถูปเขาคลังนอกและโดยรอบ เผยให้เห็นการกระจายตัวของโบราณสถานและแหล่งที่เป็นไปได้ว่า เป็นส่วนประกอบของศาสนสถาน รวมถึงกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตรอบ ๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าพื้นที่นี้เป็นมากกว่าศาสนสถานในบริบทมหาสถูป แต่อาจเป็น “มหาวิหาร” หรือวิทยาลัยซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่สำคัญแหล่งหนึ่ง เช่นเดียวกับวิทยาลัยนาลันทา ที่มีบทบาทส่งต่อพุทธศาสนาและงานศิลปะสู่รัฐในพื้นที่ใกล้เคียง