Рет қаралды 6,219
เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม 2563 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า บรรยายหัวข้อ “ความชอบธรรม อำนาจ และการต่อต้านขัดขืน”
ปิยบุตรกล่าวถึงพัฒนาการทางด้านอำนาจของมนุษย์ ในสมัยบุพกาลมนุษย์จะฝากอำนาจไว้กับตัวบุคคล คนในสังคมจะแสวงหาบุคคลที่มีความสามารถ ความกล้าหาญ และแข็งแกร่ง มอบอำนาจไว้กับบุคคลนั้น แต่เมื่อบุคคลนั้นเสียชีวิตลง อำนาจที่อยู่ติดตัวบุคคลนั้นก็จะเลือนหายไปด้วย คนในสังคมจึงก็ต้องแสวงหาบุคคลใหม่ที่พวกเขาจะฝากอำนาจไว้ แนวทางแบบนี้มักจะเกิดปัญหาในช่วงที่คนเดิมเสียชีวิตลง เพราะว่าจะมีคนเข้ามาแย่งชิงอำนาจนั้น จนเกิดเป็นสงคราม รบราฆ่าฟันกัน มนุษย์จึงได้พัฒนาอำนาจขึ้นในรูปแบบใหม่ สถาปนาอำนาจให้เป็นสถาบัน จากเดิมที่ฝากไว้ที่ตัวบุคคลกลายเป็นฝากอำนาจไว้ที่สถาบัน
มนุษย์จึงคิดค้นสถาบันที่มีชื่อว่า “รัฐ” หรือ “State” ขึ้นมาเพื่อเอาอำนาจที่มีมาฝากไว้ตรงจุดนี้ รัฐเป็นสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อให้บุคคลเข้ามาใช้อำนาจ เมื่อเป็นสถาบัน(รัฐ)แล้ว แม้ว่าบุคคลที่เข้ามาใช้อำนาจจะเสียชีวิต แต่อำนาจจะยังอยู่กับสถาบันนั้นเหมือนเดิม รัฐจะดำรงอยู่เช่นเดิม แต่บุคคลที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ใครเป็นเจ้าของอำนาจรัฐ? ปิยบุตรกล่าวว่าในสมัยโบราณรัฐเป็นสมบัติของคนบางคน เป็นสมบัติของครอบครัวบางครอบครัว รัฐสมัยโบราณแยกไม่ออกระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องสาธารณะ แต่รัฐสมัยใหม่แยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องสาธารณะออกอย่างชัดเจน
รัฐมีการพัฒนาเรื่อยมาจากที่เป็นสมบัติของคนไม่กี่คนกลายมาเป็นรัฐของทุกๆ คน ในนามของ “ประชาชน” ผู้ปกครองต้องได้รับการยอมรับจากคนในสังคม เมื่อสังคมเริ่มใหญ่ขึ้น มีผู้คนอยู่ในรัฐนั้นมากขึ้น มนุษย์ก็สร้างนวัตกรรมในการเลือกผู้นำขึ้นมา จึงเกิดการเลือกตั้งผู้แทนของประชาชน แล้วให้ผู้แทนประชาชนเข้าไปเลือกผู้นำในการบริหารรัฐนั้นๆ และที่มนุษย์ยอมรับรูปแบบนี้ก็เพราะว่ามนุษย์รู้ว่าตนเองมีส่วนร่วม มีสิทธิ์ในการใช้อำนาจร่วมกัน
ปิยบุตรกล่าวว่ารัฐทุกรัฐจะใช้กลไกอำนาจ 2 ประเภท คือ 1.การบังคับ เช่น กฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ในสังคม ผู้คนทำตามที่ผู้มีอำนาจสั่งก็เพราะกลัวว่าตนเองจะทำผิดกฎหมาย 2.ความยินยอม ในส่วนนี้เกิดจากความเห็นพ้องตรงกันของคนส่วนใหญ่ในสังคมว่ายอมรับอำนาจนั้น
ความแตกต่างคือ การใช้อำนาจรูปแบบใดมากน้อยกว่ากัน รัฐใดที่ใช้อำนาจเชิงบังคับมากกว่าอำนาจที่มาจากความยินยอม เราจะสังเกตได้เลยว่าอำนาจที่มาจากการยินยอมทำตามของผู้คนในสังคมเริ่มสั่นคลอน กำลังถูกท้าทาย อำนาจเริ่มเสื่อมความศรัทธา
ช่วงนี้เองที่เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะว่าอำนาจนำที่คอยชี้นำในสังคมกำลังถูกสั่นคลอน ถูกตั้งคำถามจากผู้คนในสังคม อย่างที่นักปรัชญาเมธีชาวอิตาลี “อันโตนิโอ กรัมชี่” (Antonio Gramsci) กล่าวไว้ว่าเป็นช่วงเวลาที่อำนาจเก่ากำลังจะตายแต่ยังไม่ตาย อำนาจใหม่กำลังจะเกิดแต่ยังไม่เกิด
เมื่อย้อนดูสังคมไทยในตอนนี้ก็จะพบว่าสังคมของเรากำลังอยู่ในห้วงเวลานี้ เราจะพบกับการตั้งคำถามที่ว่า “ทำไม” ต่อองค์กร สถาบันทางการเมืองมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.มีไว้ทำไม? กองทัพมีไว้ทำไม? และอีกหลายๆ อย่าง
#สวมีไว้ทำไม #กองทัพมีไว้ทำไม #commonschool #คณะก้าวหน้า
-----
สนับสนุนการทำงานของมูลนิธิคณะก้าวหน้า ได้ทางบัญชีธนาคารกรุงศรี ชื่อบัญชีมูลนิธิคณะก้าวหน้า เลขที่บัญชี 493-1-08675-0