Рет қаралды 74,923
"กวางรูซ่า" สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน สัตว์เศรษฐกิจสุดเลื่องชื่อของสกลนคร ยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย
ด้วยต้องการบรรเทาความทุกข์ของประชาชน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงโปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำงานของพระองค์ในภาคอีสาน พร้อมโปรดฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นสถานที่ทดลองแนวพระราชดำริต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตร เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ในในฤดูแล้ง การหาข้าวพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และอีกโครงการหนึ่งซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่ คือ การเลี้ยงสัตว์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวทางง่าย ๆ ว่า ต้องแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่ายไม่ต้องลงทุนสูง ไม่เช่นนั้นหากมีอะไรผิดพลาด เกษตรกรจะกลายเป็นหนี้ จนเป็นที่มาของตำนาน 3 ดำมหัศจรรย์แห่งภูพาน อันประกอบด้วย ไก่ดำภูพาน, สุกรภูพาน และโคเนื้อภูพาน ดังที่หลาย ๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วนั้น แต่ปัจจุบันนอกเหนือจาก 3 ดำมหัศจรรย์ที่กล่าวไปข้างต้น ทางศูนย์ฯ ได้มีการทดลองเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์เพื่อการบริโภคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก 3 ชนิด ได้แก่ "กระต่ายดำภูพาน" กระต่ายเพื่อการบริโภคที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากกระต่ายในจังหวัดสกลนคร ร่วมกับกระต่ายอีกหลากหลายสายพันธุ์ "กระบือเมซานี" กระบือผลิตน้ำนมสายพันธุ์พระราชทานที่รัฐบาลอินเดียทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ "กวางรูซ่า" สัตว์เศรษฐกิจของประเทศไทย ที่สามารถนำเขากวางอ่อนมาสกัดผลิตเป็นยามากสรรพคุณ
ซึ่งจุดกำเนิดของ 6 สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น อาทิตย์นี้ขอเชิญทุกท่านติดตามรับชมวิดิทัศน์สัตว์มหัศจรรย์แห่งภูพาน ตอน กวางรูซ่า กันได้เลยครับ
กวางในประเทศไทยหลายชนิดถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หากเลี้ยงต้องขออนุญาต ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงศึกษาทดลองเลี้ยงกวางต่างประเทศ คือ กวางรูซ่า ที่เลี้ยงได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องขออนุญาต เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงสร้างรายได้
นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ กล่าวว่า กวางรูซ่าเหมาะกับคนที่มีพื้นที่น้อย 1 ไร่ เลี้ยงกวางได้มากถึง 100 ตัว กวางรูซ่าเลี้ยงง่าย กินหญ้า ฟาง ใบไม้ทุกชนิด ทั้งใบไม้แห้งและสด อาหารข้นใช้อาหารวัว โรคแทบไม่มี ปีหนึ่งถ่ายพยาธิ 2 ครั้ง เหมือนเลี้ยงวัว เกษตรกรที่สนใจ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีกวางรูซ่าให้ยืมเลี้ยง โดยจะได้กวางตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมียตั้งท้อง 2 ตัว ให้ยืม 4-5 ปี
สิ่งที่เกษตรกรต้องเตรียม คือ คอกขนาด 8x8 หรือ 10x10 เมตร สูง 1.6-1.7 เมตร ป้องกันกวางกระโดดออก พื้นต้องแข็งแรง ป้องกันสุนัขขุดมุดเข้ามากัดกวาง สุนัขถือเป็นศัตรูสำคัญของกวาง เมื่อครบเวลาส่งกวางคืน เกษตรกรจะมีกวางเป็นของตัวเองอย่างน้อย 6 ตัว ซึ่งกวางให้ลูกปีละตัว
ผลผลิตที่ได้จากการเลี้ยงกวาง คือ เขากวางอ่อน กวางที่ตัดเขาได้คือกวางตัวผู้เท่านั้น ในปีแรกยังไม่ตัดเขา เพราะเขาเล็ก เรียก “เขาเทียน” เขาจะหลุดเอง เริ่มตัดเขาได้ในปีที่ 2 เขาที่ได้จะยาว 20 เซนติเมตร น้ำหนักคู่ละประมาณ 4-5 ขีด เขาจะให้ปริมาณมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ปีที่ 5-6 จะได้น้ำหนักคู่ละ 1 กิโลกรัม การตัดเขาตัดได้ปีละครั้ง โดยปกติกวางจะถ่ายเขาหรือเขาหลุดเองปีละครั้ง แต่หากรอให้เขาหลุดเองจะเป็นเขาแก่ ไม่มีสรรพคุณทางยา จึงต้องตัดเขาอ่อน ในการตัดเขา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ได้สร้างอุโมงค์ตัดเขาอ่อนภูพานโมเดลขึ้น เกษตรกรสร้างเองได้จากวัสดุในท้องถิ่น งบ 20,000 บาท หากเป็นของต่างประเทศ อุโมงค์ตัดเขาราคาสูงถึง 300,000 บาท
เมื่อต้องการตัดเขาจะต้อนกวางเข้าอุโมงค์ จากนั้นคัดให้เหลือตัวที่พร้อมตัดเขา ตัวที่ไม่ตัดจะถูกปล่อยออกด้านข้าง กวางที่ถูกตัดเขาตัวนี้อายุเกือบ 4 ปี เขาที่ได้น้ำหนักประมาณ 6 ขีด การตัดเขาต้องทำอย่างรวดเร็ว ข้างละ 15 วินาที ก่อนสมานแผล ฉีดยาถ่ายพยาธิ และปล่อยคืนสู่คอกใหญ่ รวมใช้เวลาเพียง 1 นาที การตัดเขาต้องทำอย่างรวดเร็ว ป้องกันไม่ให้กวางเครียด ซึ่งอาจช็อกตายได้
เขาที่ได้หากนำไปขายจะได้ราคากิโลกรัมละ 5,000 บาท หรือหากต้องการเพิ่มมูลค่าสามารถนำไปแปรรูปอัดเม็ดเป็นแคปซูล กระปุกละ 15 เม็ด ราคา 500 บาท หรือดองสุรา ซึ่งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ พร้อมถ่ายทอดความรู้การแปรรูปเขากวางรูซ่า และรับซื้อเขากวางอ่อนจากเกษตรกร เมื่อตัดเขาออกแล้ว สิ่งที่เหลือคือฐานเขาที่จะหลุดเอง ฐานเขานำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เช่น หัวเข็มขัด ที่เสียบปากกา ฐานรองพระ เศษเขากวางยังนำไปผลิตเป็นสบู่สครับ สรรพคุณเขากวางอ่อนคือ เสริมสมรรถภาพเพศชาย ปรับสมดุลเพศหญิง แก้ปัญหาการมีบุตรยาก ลดการอักเสบกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น คลายเครียด ช่วยให้หลับสบาย
ผู้ที่สนใจสายพันธุ์กวางรูซ่า สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0-4274-7458 ต่อ 602 งานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์