Рет қаралды 143,349
ธรรมชาติและเอกลักษณ์ของเนื้อพระวัดระฆัง
สวัสดีครับ พี่ๆ เพื่อนๆ คลิปนี้ ๔ มีนาจะขอเล่ารายละเอียดลึกนิดนึงเกี่ยวกับเนื้อของพระสมเด็จนะครับ
เนื้อหลักของพระสมเด็จ วัดระฆัง จะมีความแตกต่างกันกับเนื้อหลักของวัดบางขุนพรหม เราจะเล่าเรื่องยากๆ ให้ฟังดูง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้นะครับ เนื้อพระสมเด็จ วัดระฆัง ที่นักสะสมส่วนมากเก็บกันจะเป็นพระเนื้อปูนดิบ ส่วนเนื้อหลักของวัดบางขุนพรหมส่วนมากจะเป็นเนื้อปูนสุก อย่าเพิ่งงงกันนะครับว่าอะไรคือเนื้อปูนดิบหรือปูนสุก
เอาแบบง่ายๆ ไม่ใช้คำศัพท์วิทยาศาสตร์นะครับ ใครที่ศึกษาพระสมเด็จ หรือนักสะสมพระรุ่นเก่า น่าจะต้องเข้าใจเรื่องความมีเอกลักษณ์ของพระเนื้อวัดระฆังที่ถึงอายุ เนื้อพระวัดระฆังประกอบด้วยผงพุทธคุณ มวลสารต่างๆ และผงปูนรวมกัน โดยมีตัวประสานเป็นน้ำว่าน ข้าวสุก น้ำอ้อยเคี่ยว กล้วย หรือน้ำมันตังอิ๊ว รวมกันเป็นองค์พระ ทั้งนี้ไม่รวมถึงพระเนื้อพิเศษอื่นๆ นะครับ
ลักษณะของเนื้อปูนดิบ คือผงปูนที่ไม่ผ่านความร้อนสูง ไม่อบ หรือไม่ผ่านการแช่ในน้ำเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระวัดระฆัง เมื่อผ่านเวลามานาน ปูนจะทำปฎิกิริยากับน้ำมันและความชื้นในอากาศ ทำให้ละลายออกมาเป็นผลึกงอกคลุมผิวพระ จะมีความเงาและแกร่งเหมือนหินอ่อน เปลือกหอยหรืองาช้าง หรือเหมือนกระเบื้องเคลือบที่ยิ่งใช้ยิ่งแกร่ง ลักษณะแบบนี้ บางคนเลยเรียกว่าปูนเพชร และเนื้อพระแก่ปูนดิบก็ยังจะพบเม็ดปูนสุกได้นะครับ เนื่องจากปูนดิบจะกลายสภาพเป็นปูนสุกถ้ารวมกับน้ำเป็นเวลานาน
ส่วนเนื้อปูนสุก เช่นเนื้อวัดบางขุนพรหมส่วนใหญ่ แต่ก็มีบ้างที่พบพิมพ์พระวัดบางขุนพรหมเป็นเนื้อแก่ปูนดิบ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงแรกๆ ของการสร้างพระที่วัดบางขุนพรหม คือมีมวลสารจากวัดระฆังมาใช้ พระเนื้อปูนสุกคือการใช้ผงปูนที่ผ่านความร้อน ปฎิกริยาที่เกิดขึ้นจะต่างกับเนื้อปูนดิบ เนื้อพระจะมีความนวล เหมือนมีผงคลุมผิวพระ เนื้อพระไม่แกร่งเหมือนเนื้อพระวัดระฆัง ลักษณะเนื้อพระจะดูนวล นุ่ม เพราะมีการเร่งปฏิกิริยาของน้ำปูนที่งอกคลุมผิว จุดเด่นของวิธีนี้คือสามารถสร้างพระได้จำนวนมากและเร็วกว่า เพราะเนื้อพระจะเซ็ตตัวเร็วกว่าพระเนื้อปูนดิบ วิเคราะห์ว่าต้องสร้างพระในจำนวนที่ต้องการภายใต้เวลาที่จำกัด
จุดสังเกตุความเก่าพระสมเด็จเนื้อปูนดิบ ที่เนื้อถึงอายุ
๑ ธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของเนื้อพระ
๒ ร่องรอยขอบหลุมหรือรอยย่น
๓ มวลสารเก่า
๔ การกร่อนและงอก
ด้านหลังของพระสมเด็จองค์นี้ มีร่องรอยบางอย่างที่ไม่แน่ใจว่าอาจจะเกิดจากการปาดเนื้อเกินในขณะที่สร้าง หรือจะดูเป็นการเขียนอักขระบางอย่างไม่ทราบได้ เราเองก็ไม่สามารถตีความอะไรได้เป็นพิเศษ ซึ่งถ้าใครมองออก รบกวนคอมเมนท์มาบอกกันได้นะครับ
โดยรวม พระองค์นี้น่าจะมีการลงรักน้ำเกลี้ยงหรือน้ำว่านบางอย่างเพื่อรักษาเนื้อพระและมีคราบยางรักเก่าๆ ในร่องเหลืออยู่บ้าง ก่อนหน้านี้ประมาณ 20 ปี พระองค์นี้เป็นพระที่เจ้าของใช้มาตลอดและหลังจากนั้นก็เก็บไว้ในตู้นะครับ และมีความสึกจากการใช้งานมาค่อนข้างมาก แต่พระสมเด็จเนื้อแก่ปูนดิบ ยิ่งใช้จะยิ่งดูแกร่งนะครับ สำหรับเนื้อหาเรื่องพื้นฐานการสร้าง มวลสาร และแหล่งหาพระสมเด็จทันยุค พี่ๆ เพื่อนๆ ดูได้จากคลิปพระสมเด็จก่อนหน้านี้ได้เลยนะครับ