Рет қаралды 34
ถาม : ปหานปัญญาคืออะไร ? หมายถึงการปฏิบัติธรรมขั้นใด ?
ตอบ : ปหานปัญญา คือ ปัญญาในการละวิปลาสมีนิจจสัญญาวิปลาสเป็นต้น ดังความในอรรถกถา ว่า
ปหาเน ปญฺญาติ นิจฺจสญฺญาทีนํ ปชหนา ปญฺญา, ปชหตีติ วา, ปชหนฺติ เอเตนาติ วา ปหานํ.(๓- ปฏิสํ.อฏฺ. ๑/๒๒/๓๙.)
คำว่า ปหาเน ปญฺญา (ปัญญาในการละ) ความว่า ปัญญา เป็นเครื่องละวิปลาสมีนิจจสัญญาวิปลาสเป็นต้น, หรือธรรมชาติใด ย่อมละนิจจสัญญาวิปลาสเป็นต้นได้ ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า ปชหนาปัญญา,
อีกอย่างหนึ่ง พระโยคีบุคคลย่อมละนิจจสัญญาวิปลาสได้ ด้วยญาณนั้น ฉะนั้น ญาณนั้นจึงชื่อว่า ปหานํ (ญาณํ) -ญาณเป็นเครื่องละนิจจสัญญาวิปลาส
ปหานปัญญา หมายถึงการปฏิบัติธรรมขั้นภังคานุปัสสนาญาณขึ้นไป เพราะภังคานุปัสสนาญาณเป็นต้นนั้น มีความเป็นใหญ่ในการละสัญญาวิปลาส มีนิจจสัญญาวิปลาสเป็นต้นได้ (ปหานปริญญา)
ส่วนอุทยัพพยญาณ แม้จะละความเห็นผิดบางอย่างได้แต่เป็นสภาพไม่มีกำลัง จึงไม่ถึงการนับว่าปหานปัญญา ดังความในฎีกาวิสุทธิมรรคว่า
กามํ อุทยพฺพยญาณมฺปิ กิญฺจิ มิจฺฉาภินิเวสํ ปชหติ, ตสฺส ปน อถามคตตฺตา น สาติสยํ ปหานนฺติ วุตฺตํ ‘ภงฺคานุปสฺสนํ อาทึ กตฺวา อุปริ ปหานปริญฺญาย ภูมีติ.(๑- วิสุทฺธิ.ฏี. ๒/๖๙๓/๔๒๘.)
แม้อุทยัพพยญาณ ย่อมละความยึดมั่นอย่างผิดๆ บางอย่างได้ ก็จริงอยู่, ถึงอย่างนั้น เพราะความที่อุทยัพพยญาณนั้นยังไม่มีกำลัง จึงไม่ใช่เป็นการละได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะเหตุนั้น ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า ‘ภูมิของปหานปริญญาเริ่มต้นตั้งแต่ภังคานุปัสสนา(เห็นแต่ความดับ) สูงขึ้นไป’