Рет қаралды 285,641
“ดานัง” เมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำฮาน กึ่งกลางพื้นที่ภาคกลางของประเทศเวียดนาม
ย้อนกลับไปในอดีต ดานังเป็นพื้นที่ที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรจามปาโบราณ ซึ่งปกครองพื้นที่ชายฝั่งทางตอนกลางและใต้ของเวียดนามปัจจุบัน ขณะที่ดินแดนทางตอนเหนืออยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรไดเวียด กระทั่งจามถูกพิชิตอย่างเบ็ดเสร็จในปี 2375 (ค.ศ. 1832) และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเวียดนามในที่สุด
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ดานังค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเป็นท่าเรือพาณิชย์แทนที่ฮอยอัน ซึ่งอยู่ลงไปทางใต้ลงไปราว 30 กิโลเมตร เนื่องจากการต่อเรือของยุโรปได้รับการพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น สามารถกินน้ำลึก และเข้าสู่อ่าวดานังได้อย่างง่ายดายขึ้น
ในปี พ.ศ.2378 (1835) หลังจากพระเจ้ามินห์หม่าง จักรพรรดิราชวงศ์เหงียน แห่งราชสำนักเว้ ตรงกับสมัย ร.3ของไทย ทรงมีพระบรมราชโองการไม่อนุญาตให้เรือยุโรปจอดทอดสมอเพื่อทำการค้าที่ท่าเรือใด ๆ ยกเว้นท่าเรือที่ปากแม่น้ำฮาน จากนั้นดานังจึงกลายเป็นท่าเรือที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นแซงหน้าฮอยอัน
จุดเริ่มต้นของความหายนะได้อุบัติขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิเถี่ยว จิ (Thiệu Trị) เมื่อเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสเริ่มรุกคืบเวียดนามด้วยการส่งเรือรบเข้าโจมตีดานัง ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2390 (1847) เพื่อเจรจาให้ปล่อยตัวมิชชันนารีคาทอลิกชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาธอลิก เพราะก่อนหน้านี้ตั้งแต่รัชสมัยของจักรพรรดิมินห์ หม่าง (ค.ศ. 1820-41) ต่อเนื่องจนถึงรัชสมัยจักรพรรดิเถี่ยว จิ (ค.ศ. 1841-47) มีผู้เปลี่ยนมานับถือนิกายโรมันคาธอลิกมากถึง 300,000 คน ซึ่งราชวงศ์เหงียนรู้สึกว่า คณะมิชชันนารีที่เข้ามานั้นเป็นการคุกคามทางการเมือง
บรรดามิชชันนารีจึงถูกห้ามไม่ให้อาศัยและเผยแผ่ศาสนาเวียดนาม หากเพิกเฉยต่อคำสั่งนี้จะถูกเนรเทศหรือถูกประหารชีวิต
การคุกคามชาวคริสต์นี้เอง ได้กลายเป็นข้ออ้างของฝรั่งเศสในการโจมตีเวียดนาม ความตึงเครียดค่อย ๆ ทวีเพิ่มขึ้น จนในที่สุดนำไปสู่การแทรกแซงของฝรั่งเศสต่อเวียดนามโดยตรง
เดือนกันยายน 2401 (1858) กองเรือร่วมของฝรั่งเศสและสเปนยกขึ้นบกที่ดานัง ภายใต้การนำของพลเรือเอกชาร์ล ริโก เดอ เจอนูลลี ตามพระราชบัญชาของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ยุคที่ฝรั่งเศสจะเข้าปกครองเวียดนามภายใต้อาณานิคมในเวลาต่อมา
ในช่วงสองทศวรรษแห่งความขัดแย้ง ฝรั่งเศสค่อย ๆ คืบคลานยึดครองเวียดนาม จนสุดท้ายได้สถาปนารูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “อินโดจีนของฝรั่งเศส” (Union de l'Indochine Française ) ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2430
อีกสองปีต่อมาใน พ.ศ. 2432 ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเมืองดานัง ให้เป็นเมืองตูราน และอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ว่าราชการจังหวัดอินโดจีนฝรั่งเศส ตูราน หรือดานังถือเป็นหนึ่งใน 5 เมืองใหญ่ของอินโดจีนในขณะนั้น อันได้แก่ ฮานอย ไซ่ง่อน โชลอน ไฮฟอง และเว้
ตูราน หรือดานังอยู่ภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศส จนกระทั่งช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 (1945) ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองท่าเรือดานังในปี 2488
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง โฮจิมินห์ผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามประกาศไม่ยอมขึ้นกับฝรั่งเศสและได้ทำสงครามกับฝรั่งเศสเป็นเวลา 9 ปี จึงสามารถโจมตีป้อมปราการสำคัญของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟูแตก
การเจรจาลงนามใน “อนุสัญญาเจนีวา” มีผลให้เวียดนามถูกแบ่งเป็นสองฝ่ายคือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ โดยยึดเส้นขนานที่ 17 องศาเหนือเป็นเส้นแบ่งเขตแดน โดยดานังอยู่ในฝั่งเวียดนามใต้
เมื่อฝรั่งเศสออกไป สหรัฐได้เข้ามาแทนที่ เพื่อหยุดยั้งลัทธิคอมมิวนิสต์ของฝ่ายเวียดกง หรือเวียดนามเหนือ ในระหว่างสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐฯ ได้นำนาวิกโยธินจำนวน 3,500 นายยกพลขึ้นบกครั้งแรกที่ดานัง เพื่อปลดแอกเวียดนามจากพวกเวียดกง
เมื่อดานังเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศหลักของกองทัพสหรัฐอเมริกา จำนวนประชากรในเมืองได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยสงคราม แต่ในที่สุดสหรัฐฯ ก็ได้ถอนกำลังทั้งหมดออกไป เมื่อต้องประสบกับความสูญเสียในสงครามอย่างยับเยินในปี พ.ศ. 2518
ปัจจุบัน จากศักยภาพการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ จึงไม่แปลกที่ดานังจะถูกผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งของเวียดนาม และภูมิภาคอาเซียนไปโดยปริยาย
เมื่อมองไปที่ภาคการท่องเที่ยว ดานังกำลังเป็นเมืองที่เติบโตในอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก ด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดขายของดานังที่มีมานาน นั่นคือ “ ทะเล ชายหาด และแสงแดด” (Sea Sand Sun) รวมทั้งยังมีมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นแหล่งทรัพยากรที่เอื้อให้แก่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ดานัง ยังเปรียบเสมือนประตูของการเริ่มต้นเดินทางย้อนอดีตไปสู่ 3 แหล่งมรดกโลกสำคัญที่อยู่รายล้อม ทั้งความยิ่งใหญ่ของกลุ่มปราสาทหมี่เซินแห่งอาณาจักรจามปา อายุกว่า 1,600 ปี
เมืองโบราณฮอยอัน เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อายุกว่า 500 ปี
และ เว้ ราชธานีศูนย์กลางการปกครองในยุคราชวงศ์เหงียน ร่วมสมัยเดียวกับกรุงรัตนโกสินทร์
ทั้งหมดคือเส้นทางแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของประเทศเวียดนาม รวมทั้งอดีตของภูมิภาคอุษาคเนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปพร้อม ๆ กันด้วย